****** ภาพสะท้อนของ The Medium / 2021 (ร่างทรง) ในมุมมองแบบพหุกระบวนทัศน์และเทววิทยา ^_^

ราวสัปดาห์ก่อนผมได้คุยกับคุณพี่ท่านหนึ่ง(คนไทย) นักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเมสซี่ เมือง Palmerston North บนเกาะเหนือ ในนิวซีแลนด์ ว่าเคยเห็นผมทำวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อ(คตินิยมวิทยา และคติชนวิทยา)ว่าด้วยเรื่องการเข้าทรงในรูปแบบต่างๆในภาคใต้ของประเทศไทย ประจวบเหมาะกับมีหนังที่กำลังอยู่ในกระแสเรื่อง The Medium / 2021 (ร่างทรง) กำลังเข้าโรงฉายภายในประเทศต่างๆพอดี หลังจากคุณพี่ดูหนังเรื่องนี้จบก็เกิดคำถามขึ้นมามากมายในหัวเกี่ยวกับ “ร่างทรง” เลยอยากให้ผมเขียนอะไรให้อ่านเสียหน่อย หนึ่งคือเป็นความรู้ และสองอธิบายความรู้สึกหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ(ในมุมมองของผม)

โอเค จัดให้ครับ

ก่อนดูหนังเรื่องนี้ ทำความรู้จักกันก่อนว่า “ร่างทรง” คืออะไร?

“ร่างทรง” คืออะไร : มีผู้รู้และแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจทางสายนี้ อธิบายถึงความหมายของคำว่า ร่างทรง เอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี และ dictionary.sanook คำสืบค้น “ร่างทรง” อธิบายความหมายของคำว่าร่างทรงหรือคนทรงเอาไว้ร่วมกันว่า “ร่างทรง หรือคนทรง คนสำหรับทรงเจ้า, คนที่เป็นร่างให้วิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าสิง ซึ่งหมายถึง คนที่ให้เจ้าหรือผีมาเข้าสิงในตัว การเข้าสิงนั้นเรียกว่า การเข้าทรง ในขณะที่องค์เทพลงประทับทรงเพื่อสร้างบารมี ร่างทรงจะไม่รู้เรื่องอะไรเลยแต่ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวทำตามคำสั่งของเทพหรือสิ่งที่เข้าทรงได้”

เว็บไซต์ประเพณีไทยดอทคอม อธิบายความหมายของคำว่าร่างทรงเอาไว้ว่า “ร่างทรง เป็นภาคหนึ่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจุติมาเพื่อช่วยขจัดปัดเป่าบรรเทาทุกข์ทั้งปวง โดยเทพจะสื่อกับมนุษย์ได้โดยผ่านร่างทรง ซึ่งร่างทรงนั้นเทพอาจจะลงหรือไม่ลงก็ได้”

Thematter อธิบายถึงคำว่า “ร่างทรง” เอาไว้ว่า “ในพื้นที่ประเทศไทย ในวัฒนธรรมของกลุ่มชนก็จะมีพิธีกรรมที่มีการทรงเจ้า การทรงนี้มักเป็นการทรงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือดวงวิญญาณที่กลุ่มชนเชื่อว่าเป็นใหญ่ในพื้นที่นั้นๆ หนึ่งในฟังก์ชั่นของการทรงดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการรักษาเยียวยาความเจ็บป่วยของสมาชิกในชุมชน ร่างทรงคือการที่มนุษย์หยิบยืมเสียงหรือตัวตนจากโลกที่อยู่เหนือกว่าตัวเองมาใช้ ในวัฒนธรรมกลุ่มชน ร่างทรงมักเป็นผู้หญิง งานศึกษาจึงพบว่าการทรงเจ้าจึงมีฟังก์ชั่นทางสังคม เป็นการที่ผู้หญิงสามารถมีอำนาจ มีเสียงขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้ จากร่างทรงแบบดั้งเดิมถึงยุคปัจจุบัน ร่างทรงในเมืองเองก็มักเป็นผู้หญิงไปจนถึงเพศทางเลือกต่างๆ และร่างทรงเองในฐานะสิ่งที่มาจากยุคก่อนหน้าก็ต้องมีการจัดการปรับตัวไปตามโลกโลกาภิวัตน์”

จากทรรศนะของผู้รู้ที่กล่าวมาเบื้องต้นจึงพอที่จะสรุปความหมายของคำว่า “ร่างทรง” เอาไว้ ดังนี้ “ร่างทรง คือ คนที่เป็นร่างเป็นสื่อกลางให้วิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าสิง โดยอาจเป็นเทพ หรืออะไรก็ได้ที่เข้าสิง มูลเหตุหลักของการเข้าทรง เพื่อช่วยขจัดปัดเป่าบรรเทาทุกข์ทั้งปวงของผู้คน นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมของกลุ่มชนในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทยแต่ครั้งยังเรียกสยามประเทศ ก็มักจะมีพิธีกรรมที่มีการทรงเจ้า การทรงนี้มักเป็นการทรงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือดวงวิญญาณที่กลุ่มชนเชื่อว่าเป็นใหญ่ในพื้นที่นั้นๆ โดยร่างทรงส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย”

ร่างทรงในมุมมองแบบพหุกระบวนทัศน์และเทววิทยา (ชาวบ้าน-นักจิตวิทยาคลีนิค-นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม)

มุมมองของชาวบ้านที่มีต่อร่างทรง : จากการที่ผู้เขียนเคยทำวิจัยสมัยเรียนปริญญาโท(เน้นการวิจัยทางสายเกี่ยวข้องกับความเชื่อของกลุ่มชนในประเทศไทยโดยตรง) รวมถึงการทำวิจัยตอนสมัยเรียนปริญญาเอก และเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก(วิจัยเกี่ยวข้องกับสายความเชื่อในท้องถิ่นนิยมโดนเฉพาะ) พอที่จะได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อและมุมมองในประเด็น ร่างทรง เอาไว้ สรุปความได้ ดังนี้ “ร่างทรง ในความเชื่อของชาวบ้านหมายถึง คนที่เป็นร่างหรือสื่อสำหรับให้เทพ ให้เทวดา ให้ทวด ให้ผีฟ้าพญาแถน หรือไม่ก็ผีบรรพบุรุษลงมาประทับร่าง สิงร่าง เพื่อประกอบพิธีกรรมภายในชุดชนบางอย่าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นพิธีกรรมที่ช่วยในการขจัดปัดเป่าบรรเทาทุกข์ รักษาโรค สร้างเสริมขวัญกำลังใจของผู้คนภายในชุมชนให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ร่างทรงในชนบทของประเทศไทยจึงมีให้เห็นกันแทบทุกภาค เช่น ร่างทรงผีฟ้าพญาแถนของคนอีสาน และร่างทรงในพิธีโนราห์โรงครูของทางภาคใต้ เป็นต้น โดยการเข้าทรงในแต่ละครั้งจะสามารถให้คุณให้โทษได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเทพ หรือผีเข้าร่าง แต่บางครั้งการทรงในภาคใต้อาจให้พญาสัตว์เข้าร่างก็ได้ เช่น งูบองหลา, จระเข้, ช้าง, และเสือ เป็นต้น การเข้าทรงในบางครั้งอาจมีการผสมผสานรูปแบบความเชื่อในท้องถิ่นเพื่อให้เป็นจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เช่น การเข้าทรงแบบผสมผสานของศาสนาผี-ศาสนาพุทธ-ศาสนาอิสลาม-ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และความเชื่อในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ทั้งในภาคใต้และในบางพื้นที่ของประเทศไทย เป็นต้น”

มุมมองของนักจิตวิทยาคลีนิคที่มีต่อร่างทรง : ซึ่งในเรื่องนี้ มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง โดย Assoc. Prof. Dr.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ อธิบายเอาไว้ว่า “ในทางจิตวิทยา (psychology) และจิตเวชศาสตร์นั้นอธิบายไว้ว่า ร่างทรงคือ ผู้ที่มีบุคลิกภาพหลายแบบ (multiple personality) ซึ่งในแต่ละแบบอาจแสดงออกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆที่มากระตุ้นเร้า ซึ่งจะแสดงออกและสื่อสารที่แตกต่างออกไปจากบุคลิกภาพแบบถาวรของเขา และสาเหตุอาจเกิดจากการเลี้ยงดูและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกบีบคั้นหรือรุนแรงหรือละเลยในรูปแบบต่างๆจนอาจส่งผลต่อการปรับตัวหรือรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆในชีวิตที่แตกต่างกันหลากหลายรูปแบบนั่นเอง แต่สำหรับร่างทรงที่สามารถทำหน้าที่ตามวัยของชีวิตได้ เปี่ยมคุณธรรมและจริยธรรม มีจิตใจเมตตากรุณาและมีจิตสำนึกสาธารณะสูง พร้อมทั้งรับผิดชอบต่อตนเองครอบครัวและสังคมได้เป็นอย่างดี ทั้งยังไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น เขาเหล่านั้นก็คือบุคคลคุณภาพของสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ช่วยสานสัมพันธ์ทางสังคมและส่งเสริมสุขภาพจิตแก่คนในชุมชนให้มีความมั่นคงทางจิตใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็พบอยู่ไม่น้อยในสังคมปัจจุบัน

ในด้านศาสนาปรัชญาโดยเฉพาะ #อภิปรัชญา (metaphysic) นั้น ร่างทรงคือบุคคลที่สามารถเชิญวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้วหรือเทพต่างๆมาประทับทรงในกายของตนได้ ซึ่งพบว่ามีทั้งร่างทรงที่บ่งชี้ได้ว่ามีวิญญาณคนอื่นมาเข้าทรงจริงและมีทั้งไม่จริง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการวิจัยโดยมีระเบียบวิธีวิจัยสาขานี้โดยตรงเรียกว่า theory of implicative verification ซึ่งมีทฤษฏีรองรับอยู่สองกลุ่ม #คือทฤษฏีความน่าจะเป็นและทฤษฏีตรรกศาสตร์ ดังเช่นวิจัยเรื่อง ตายแล้วเกิด ตอนการเชิญวิญญาณเข้าทรง โดย รศ.ดร บุญ นิลเกษ อดีตหัวหน้าภาควิชาศาสนาปรัชญามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ทุนวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ พบว่า วิญญาณที่ผ่านร่างทรงนั้นมีอยู่จริง และในอีกด้านหนึ่งก็ยืนยันได้ว่าร่างทรงนั้นมีวิญญาณผู้อื่นมาทรงอยู่จริง เป็นต้น

ส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดร่างทรงจำนวนหนึ่งจึงเป็นคนไข้โรงพยาบาลจิตเวชนั้น ขอตอบว่า การป่วยทางจิตใจนั้น เกิดได้และพบได้ในทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพใช่เฉพาะร่างทรงเท่านั้น แต่หากเป็นร่างทรงของจริงที่มิใช่ผู้ป่วยโรคจิตเภท (schizophrenia) นั้น อาจเป็นไปได้ว่าเขาเหล่านั้นไม่สบายทางอารมณ์เกิดความเครียดและวิตกกังวลสูงหรือเศร้าใจ ซึ่งก็เกิดได้กับคนเราทุกเพศทุกวัยอีกเช่นกัน ไม่น่าจะเกิดเฉพาะร่างทรงเท่านั้น แต่น่าจะเป็นเพราะปัจจัยทางจิตวิทยาส่วนบุคคลที่แตกต่างกันของมนุษย์แต่คนนั่นเอง” (ข้อมูลโดย : Assoc. Prof. Dr.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์)

มุมมองของนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมที่มีต่อร่างทรง : “ร่างทรง คือ ร่าง หรือสื่อ หรือตัวจูนสำหรับติดต่อกับสิ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติที่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ สิ่งมีอำนาจที่ว่าถูกเรียกขานว่า animism ถือเป็นจุดกำเนิดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงในโลกใบนี้ ในความหมายของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม สมัยก่อนมนุษย์เชื่อว่าในธรรมชาติ ในก้อนหินทุกก้อน ในแม่น้ำ ในป่าเขา มีดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ ให้คุณให้โทษได้ ด้วยความยำเกรงในอำนาจเราจึงเอาดวงวิญญาณที่มีพลังเหล่านั้นมาเป็นพวก เซ่นสรวงพร้อมยกสถานะให้ จากผี สิ่งลี้ลับธรรมดาให้กลายมาเป็นผีฟ้า เป็นเทวดา เป็นทวด ฯลฯ ต่อมามีการแตกแขนงกิ่งก้านจาก animism มาเป็นสายแยกย่อย เช่น totemism คือเชื่อแยกแตกแขนงกันออกไปอีกว่าสัตว์ที่อายุมากๆ ต้นไม้ที่มีอายุมากๆมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ภายใน จึงเกิดเป็นลัทธิที่เชื่อว่ามนุษย์บางกลุ่มมีสัตว์และต้นไม้เป็นต้นตระกูล มีพิธีกรรมในการบูชาเซ่นสรวง ให้มีร่างทรงสำหรับการเข้าทรงสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เข้าทรงต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เช่น การเข้าทรงงูบองหลา(งูจงอาง), เข้าทรงจระเข้, เข้าทรงเสือ, เข้าทรงช้าง, เข้าทรงต้นไม้ ของคนในพื้นที่จังหวัดสงขลา, พัทลุง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, และในพื้นที่ภาคใต้ตลอดไปจนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลยเซียในหมู่ของ “ชาวไทยสยาม” (ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย) และในหลายๆพื้นที่ในโลกใบนี้ เป็นต้น ที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ร่างทรงมีความสัมพันธ์เกี่ยวของกับผู้คนในพื้นถิ่นของประเทศไทยมาช้านาน โดยการเข้าทรงที่เป็นที่นิยมของทางภาคใต้อีกประเภทก็เช่น การเข้าทรงในโนราห์โรงครู, และการเข้าทรงในหมู่ผีบรรพบุรุษ (ancestor worship) หรือคติบูชาผีบรรพบุรุษ ซึ่งมีทุกภาคในประเทศไทย ภาคเหนือเรียกว่า #ผีปู่ย่า ภาคภาคกลางเรียกว่า #ผีปู่ย่าตายาย ภาคอีสานเรียกว่า #ผีปู่ตา และภาคใต้เรียกว่า #ผีตายาย ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีพิธีกรรมการเข้าทรง และยังนับถือกันอยู่ในวงกว้าง” (ข้อมูลโดย : ดร.คุณาพร ไชยโรจน์ อ้างอิงจากหนังสือวิจัยเรื่อง ทวด ในรูปสัตว์)

The Medium / 2021 (ร่างทรง) : เป็นหนังสยองขวัญงานร่วมทุ่นสร้างสองประเทศระหว่างไทยกับเกาหลีใต้(ใน IMDB ให้เครดิตเป็น Country of origin :Thailand) ผลงานการกำกับของ Director : โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล (ซึ่งเคยฝากผลงานสร้างชื่อเอาไว้ อาทิ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ปี 2547), โดยได้ นา ฮง-จิน ผู้กำกับมากประสบการณ์ผู้เคยผ่านงานกำกับหนังสะเทือนขวัญชื่อดังในเกาหลีใต้อย่าง The Wailing / 2559 (ฆาตกรรมอำปีศาจ)มาแล้ว เป็นคนดูแลการสร้างหนังเรื่องนี้ร่วม รวมถึงด้านการเกลาบท(Writers)

พูดถึง The Medium : นอกจากหนังเรื่องนี้จะใช้ชื่อว่า The Medium / 2021 หรือ “ร่างทรง” แล้ว หนังยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น Rang Zong / 2021 (เขียนแบบทับศัพท์ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ), 랑종 / 2021 (ชื่อที่ใช้ในเกาหลีใต้), และ Медиум / 2021 (ชื่อหนังที่ใช้ในเวอร์ชั่นภาษารัสเซีย) หนังต้นฉบับมีความยาวคือ 2.10 ชั่วโมง ถูกจัดเอาไว้ในประเภท Genre : Horror / Certificate : 18+ (หนังสยองขวัญในเรต 18+) พากย์ภาษาถิ่นไทยอีสาน(ซับฝัง : เกาหลีใต้) มุมมองในหนังแบบกล้องแทนสายตา(สไตล์หยิบกล้อง VDO ขึ้นมาแล้วก็ถ่ายทำผลงานไปเรื่อยๆ / มุมมองสไตล์หนังเรื่อง REC ของสเปน) นักแสดงนำ อาทิ Narilya Gulmongkolpech, Sawanee Utoomma, และ Sirani Yankittikan สถานที่ถ่ายทำหลักคือ ที่จังหวัดเลย โดยเฉพาะในพื้นที่ของ “ถ้ำโพธิสัตว์” ภายในวัดถ้ำโพธิสัตว์ ตำบลปวนพุ อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย

โครงเรื่องหลักใน The Medium / 2021 (ร่างทรง) : กล่าวถึงทีมงานถ่ายทำสารคดีทีมหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับ “ร่างทรง” พวกเขาเดินทางไปทั่วทั้งประเทศไทยเพื่อศึกษาชีวิตของผู้ที่เป็นร่างทรง หนังโฟกัสลงไปในปี พ.ศ.2561 หลังจากที่ทางทีมงานสัมภาษณ์ร่างทรงมาหลายชีวิต หลายสถานที่ ต่อมาทีมถ่ายทำสารคดีได้เบาะแสบางอย่าง จึงตัดสินใจเดินทางไปยังบ้านหลังหนึ่งในตำบลปวนพุ อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย เพื่อติดต่อขอสัมภาษณ์ร่างทรงที่น่าสนใจที่สุดของที่นี่ “ป้านิ่ม” หญิงร่างอ้วนวัยกลางคนค่อนไปทางสูงวัย อันเป็นร่างทรงประทับของ “ย่าบาหยัน” ร่างปัจจุบัน ร่างอันเป็นที่ยำเกรงให้ความเคารพอย่างสูงของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเชื่อกันว่าย่าบาหยันมีอำนาจทางให้คุณ รักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้านในพื้นที่ด้วยคาถาอาคมจนหายป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ทีมงานตั้งใจเอาไว้ว่าจะถ่ายทำหนังสารคดีเกี่ยวกับร่างทรงของย่าบาหยันโดยใช้หัวข้อว่า “สายเลือดร่างทรง” เป็นสารคดีที่ว่ากันว่าเกี่ยวข้องกับการสืบทอดร่างทรงภายในสายตระกูลนี้ ซึ่งครั้งที่ทีมงานลงไปทำการถ่ายทำนี้เองประจวบเหมาะกับช่วงที่ย่าบาหยันต้องการจะย้ายร่างทรงจากป้านิ่ม ย้ายไปยังผู้สืบสายเลือดร่างทรงคนใหม่ ซึ่งก็คือในรุ่นหลานสาวอย่าง “มิ้ง” ลูกของพี่สาวป้านิ่ม ทีมงานเกิดความคิดว่า ถ้าการสืบทอดร่างทรงมีอยู่จริง เราอาจบันทึกการเปลี่ยนผ่านนี้ไว้ได้ ทีมงานถ่ายทำสารคดีจึงตัดสินใจที่จะตามถ่ายมิ้งและครอบครัวด้วย โดยหลังจากที่ทีมงานตามถ่ายเรื่องราวในชีวิตประจำวันของมิ้งและครอบครัวไปได้สักพัก ก็เริ่มรู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่มันไม่ชอบมาพาพล เพราะการเปลี่ยนผ่านเพื่อย้ายร่างทรงในรอบนี้มันมีความผิดปกติในหลายๆอย่าง จนป้านิ่มต้องลงมาตรวจสอบพฤติกรรมของหลานรักด้วยตนเอง แล้วก็พบว่า “อาการของมิ้งไม่ใช่การสืบทอดร่างทรง แต่มีอะไรบางอย่างที่มันชั่วร้ายมากๆเข้าสิง” หลังจากนั้นหนังก็จะนำเสนอภาพ-เรื่องราวการสืบหาต้นตอสิ่งชั่วร้ายที่เข้าสิงมิ้น ว่ามันคืออะไร และมันต้องการอะไร ผ่านมุมมองการเล่าเรื่องของทีมงานถ่ายทำสารคดีทีมนี้

แอบตกใจนิดหนึ่งตรงที่ครอบครัวของป้าน้อย(คุณแม่ของมิ้ง / สาวที่โดนผีเข้าในเรื่อง)เคยเปลี่ยนจากนับถือศาสนาพุทธ เปลี่ยนมาเป็นนับถือศาสนาคริสต์เพราะไม่ต้องการรับทอดเป็นร่างทรงรุ่นต่อมา จนทำให้น้องสาว หรือป้านิ่ม หญิงร่างอ้วนวัยกลางคนค่อนไปทางสูงวัย ต้องมาเป็นร่างทรงของ “ย่าบาหยัน” แทน ตรงนี้นึกย้อนกลับไปตอนสมัยเรียนปริญญาโท ผู้เขียนมีคุณเพื่อนท่านหนึ่งที่เรียนไทยคดีศึกษามาด้วยกัน เรียกชื่อว่าพี่ติ่ง(นามสมมุติ) อายุของพี่ติ่งแก่กว่าผู้เขียนเกือบ 30 ปี แต่เราเรียนอยู่ห้องเดียวกันจริงๆนะครับ ครั้งหนึ่งพี่ติ่งแกเล่าให้ฟังว่า แกมีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง คือ แกสามารถมองเห็นผีได้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ จนครั้งหนึ่งแกเห็นผีแทบจะทั้งวันทั้งคืน แกกลัวมาก เลยไปปรึกษาญาติผู้ใหญ่ ให้ร่างทรงมาประทับแล้วช่วยดูให้ ปรากฏว่าแกโดนยาเสน่ห์เข้า คือของที่ส่งมามันหนักมากๆ ไม่มีทางแก้ไข ยกเว้นให้แกเปลี่ยนศาสนา แกจึงเปลี่ยนจากพุทธไปเข้าศาสนาคริสต์ตั้งแต่วันนั้นล่ะ พร้อมกับนักบวชในคริสต์ศาสนาทำพิธีกรรมล้างบาปบางอย่างให้แก ปัจจุบันคือแกไม่สามารถเห็นสิ่งลี้ลับพวกนั้นได้แล้ว อืมมม…. เรื่องในหนังมันคล้ายๆกับเรื่องของคุณเพื่อนผมท่านนี้เลยครับ ในห้วงความทรงจำครั้งหนึ่งจริงๆ

กลับเข้าเรื่อง….

The Medium เรามองเห็นถึงภาพสะท้อนจากตัวละครภายในหนังเรื่องนี้ หนึ่งคุณแม่ที่ปฏิเสธการเป็นร่างทรงของ “ย่าบาหยัน” เพราะไม่ต้องการแบกรับวิถีของการต้องมาเป็นร่างทรงที่มีภาระหนักอึ้งตามมา ด้วยการเปลี่ยนศาสนา ซึ่งอาจทำให้ย่าบาหยันโกรธ แล้วก็วิถีของคนชนบทกึ่งเมือง การที่ลูกสาวของป้าน้อย คือมิ้งนั่งรถสองแถวเข้ามาทำงานในเมือง ในสำนักงานจัดหางานอำเภอ ทำให้ซึมซับวิถีของความเป็นคนเมืองมากยิ่งขึ้น รับกระแสของโลกาภิวัตน์มากขึ้น บวกการเปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์ ความเชื่อในเรื่องร่างทรงของครอบครัวนี้แม้นดำรงตนอยู่ในวิถีชนบทจึงลดลงอย่างมีเงื่อนไข หนังสะท้อนให้เห็นถึงภาพของ “การทวงคืนสิทธิ์” สิทธิ์ในร่างทรงรุ่นต่อไปที่อำนาจเหนือธรรมชาตินามย่าบาหยัน หรือ animism (และ ancestor worship) ผีปู่ตาของภาคอีสานต้องการ เราเลยเริ่มได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นนิยมดังกล่าวแสดงอำนาจบางอย่างออกมา เช่น ทำให้ผู้ปฏิเสธศาสนา ปฏิเสธการเป็นร่างทรงรุ่นต่อไปป่วย เป็นไข้ มีประจำเดือนติดต่อกัน 5 เดือนเต็มๆทุกวัน นอกจากนี้หนังยังเล่นในประเด็นเรื่องบาปกรรมในชาติปางก่อนที่ตามมาทันในยุคปัจจุบัน ไม่เกิดกับรุ่นพ่อแม่ แต่กลับตามมาเอาคืนได้แสนสาหัสยิ่งกว่ากับรุ่นลูกหลานจนชวนขนพองสยองเกล้า หนังมีส่วนของการสืบสวนคดีทางวิญญาณจนนำไปสู่จุดเริ่มต้นแห่งจุดจบอันสุดสะพรึง

บริบทโดยองค์รวม ช่วงแรกของหนังจะนำเสนอเรื่องราวก่อนการเปลี่ยนถ่ายร่างของผู้ถูกเลือกเป็นร่างทรง ช่วงกลางจะเป็นช่วงที่เกิดคำถามขึ้นภายในใจของตัวแสดงหลักรวมถึงทีมงานว่าสิ่งที่กำลังทำให้มิ้น(สาวตัวเอกของเรื่อง)เกิดการเปลี่ยนแปลง คือจิตของย่าบาหยันจริง หรือเป็นเพียงสิ่งอื่นมาสิง อาศัยร่างที่น่าหวาดหวั่นกว่า ชั่วร้ายกว่า และช่วงท้ายของหนังที่เปิดเผยที่มาที่ไปของสิ่งที่เข้าสิงร่างของมิ้น และพิธีกรรมในการถอนเจ้าสิ่งนี้ออกจากร่าง

พฤติกรรมของสัตว์มนุษย์?
เคยพูดเอาไว้ข้างต้นแล้วว่า “สิ่งที่สิงร่าง ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเทพ หรือผีเสมอไป แต่อาจเป็นสัตว์ หรือต้นไม้ก็ได้ เพราะในลัทธิ animism และ totemism สองสิ่งนี้สามารถสิ่งร่างได้หมด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือต้นไม้ หรืออาจเป็นสัมภเวสี, โอปปาติกะ ไม่แปลกที่ในช่วงท้ายเรื่องเราจะได้เห็นดวงวิญญาณของสุนัข(หรือที่มันคล้ายสัตว์ร้าย)สิงสถิตพวกคนทรงจนแสดงพฤติกรรมคล้ายผีหมา หรือผีซอมบี้ออกมาก็มิปาน มันเป็นเฉกเช่นนั้นจริงๆแล”

The Medium / 2021 ฉากน่ากลัวๆในหนังเรื่องนี้ เช่น พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแบบคนละคนของตัวแสดงหญิง(นางเล่นได้ดีมาก ตีบทแตก) ฉากกล้องวงจรปิดภายในสำนักงานจัดหางานซึ่งเป็นฉากติดเรต 18+ (เเน่ๆ), ฉากการแอบตั้งกล้องวงจรปิดของทีมงานราว 6 คืนภายในบ้าน ฉากนี้หัวใจจะวายตายให้ได้ แอบตกใจในหลายฉากเลยล่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีฉากการทำพิธีกรรมไล่สิ่งชั่วร้ายที่น่าตื่นตาตื่นใจในช่วงท้ายเรื่อง แอบเห็นครูหมอบางคนเอาว่านพิษ ว่านมีหนามแหลมมาอาบ มาแช่ คล้ายพิธีกรรมการแช่วานคงกระพัน(แช่หนาม)ของวัดเขาอ้อ พัทลุง ฉากบางฉากผมก็ว่านะ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากหนังสเปนเรื่อง REC / 2007 ของ Directors : Jaume Balagueró และ Paco Plaza ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะฉากที่ทีมถ่ายทำสารคดีตกอยู่ในฝูงหมาซอมบี้ในช่วงท้ายเรื่อง แล้วโดนลาก อืมมม…. ผมว่า มันใช่เลย อารมณ์มันได้ งานอย่าง REC มาแบบเต็มๆครับ (555+)

The Medium / 2021 หนังมีฉากที่ติดเรต 18+ และ(หรือ)อาจจะเหนือชั้นกว่านั้นด้วย ซึ่งบางทีอาจข้ามขั้นไปที่ติดเรต ฉ 20+ ได้เลย เช่น ฉากที่สาวมิ้งกระชากเสื้อผ้าของตนเองจนขาดหลุดลุ่ยเห็นหน้าอกเปลือย จากนั้นนางก็เอามือล้วงเข้าไปในกางเกงชั้นใน แล้วเอามือมาป้ายหน้าของคนในครอบครัวพร้อมด่าทออย่างรุนแรง, ฉากต่อมาก็คือ ฉากที่สาวมิ้งโดนสิงแล้วไปนั่งยองๆฉี่บนโต๊ะกินข้าว, แล้วก็ฉากนี้ที่ว่ากันว่าติดเรต ฉ 20+ ได้เลย ฉากสาวมิ้งจับสุนัขสีขาวที่เลี้ยงเอาไว้ภายในบ้านไปกดใส่หม้อต้มน้ำร้อนที่กำลังเดือดปุปุ จากนั้นนางก็หักคอสุนัขตัวดังกล่าวฉีกกินอย่างอร่อย ฉากนี้ทำร้ายจิตใจคนรักสุนัขของจริงครับ

หนังดีเลยนะครับเรื่องนี้ แม้นช่วงแรกอาจจะน่าเบื่อไปสักหน่อย จนมีคนพูดกันว่า “กรุณาละ 1 ชั่วโมงแรกไปเลยก็ได้ ไม่ต้องไปดูมัน เพราะมันคือการปูพื้น ถ้าอยากดูอะไรที่มันสนุกตื่นเต้น ให้เริ่มกดดูที่นาทีที่ 61 ของหนัง ดูไปเรื่อยๆจวบจนหนังจบ นั่นแหล่ะ งานดีเลยล่ะ” ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงครับ (แต่ยังไงถ้าอยากได้อรรถรสแบบเต็มๆ กรุณาอย่ากดข้ามช่วงแรกของหนังไปนะครับ เดี๋ยวจะขาดรสชาติบางอย่างไป 555+)

อนึ่ง เคยได้ข่าวว่าผู้กำกับเอาหนังเรื่องนี้ไปฉายที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นที่แรก แล้วก็สร้างปรากฏการณ์คนดูเกิดอาการขวัญผวาจนวิ่งหนีออกมาจากโรงหนังมาเเล้ว จนครั้งหนึ่งต้องเปิดรอบพิเศษ เปิดไฟให้สว่างขณะฉายหนังเรื่องนี้มาแล้ว เพราะกลัวคนดูช็อคตายคาเก้าอี้เสียก่อนดูหนังจบ! (อืมมม….ข่าวมาประมาณนี้จริงๆครับ เป็นการโฆษณาหรือเปล่าไม่ทราบ แต่ข่าวที่เกาหลีมาแบบนี้จริงๆ)

ถามว่าดูจบแล้วชอบหรือไม่ชอบ : ตอบ ชอบครับ เพราะส่วนตัวผมชอบหนังแนวสารคดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอจับ “ร่างทรง” มาถ่ายให้มันกลายเป็นหนังแนวสารคดีเลยดูเลิศเลอเพอร์เฟคมากยิ่งขึ้นไปอีก คล้ายเอาหนังเรื่อง “หมอปลา มือปราบสัมภเวสี ตอนที่น่ากลัวที่สุด” มาบวกเข้ากับ “REC / 2007” ใส่กลิ่น รส เสน่ห์แบบไทยๆเข้าไปอีกนิด เรื่องนี้จึงออกกลมกล่อมมากๆครับ เอ่อ....ดูๆไป หนังมีกลิ่นอายการเดินเรื่องสืบสวนคดีแบบ Noroi: The Curse / 2005 หนังญี่ปุ่นเรื่องนั้นด้วยนะ ใครไม่ชอบไม่ว่า แต่ผมชอบมากๆนะเออ ให้ 9.5 / 10 คะแนนครับ หนังสนุกมาก

วาทะที่ชวนให้คนดูขบคิด และเป็นปลายเปิดสำหรับทุกๆคน หลังดูหนังเรื่องนี้จบ กับคำพูดสุดท้ายของป้านิ่ม ร่างทรงของย่าบาหยัน พูดก่อนที่หนังจะจบลง วาทะสุดท้าย ที่ว่า….

“ป้าไม่รู้จริงๆ ว่าย่ามาเข้าร่างป้าจริงๆหรือเปล่า?”

****** ข้อควรคิดท้ายบทความ : ร่างทรง หรือคนทรงเจ้า เข้าทรงจริง หรือเข้าทรงหลอก : มองมุมกลับ…. ไสยศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (????)

* ไสยศาสตร์
เชื่อว่า เป็นภาวะที่ผี (หรือจิตวิญญาณที่มีอำนาจกล้าแข็ง) เข้าสิงร่างของผู้คนหรือร่างทรง จนทำให้เกิดการสื่อสารเชื่อมโยงกันระหว่างโลกของคนตายกับโลกของคนเป็น ตรงนี้เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในลัทธิที่เรียกว่า “วิญญาณนิยม” หรือ animism มาช้านาน โดยผีหรือดวงวิญญาณที่มีพลังกล้าแข็งเหล่านั้นอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ ถ้าไม่ดีเรียกว่า “ผีร้าย” แต่ถ้าดีก็เรียกว่า “ผีฟ้า” เรียกว่า “เทวดา” เรียกว่า “เทพ” เรียกว่า “ทวด” หรืออาจเป็นผีของบรรพชนผู้ล่วงลับดับสูญ-ผีบรรพบุรุษในฝ่ายดีที่เรียกว่า ancestor worship (คติบูชาผีบรรพบุรุษ)ถูกเรียกมาเข้าทรง ซึ่งผีจำพวกหลังนี้มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ที่รู้จักกันแพร่หลายก็ อาทิ ทางภาคเหนือ คือ ผีปู่ย่า, ทางภาคกลาง คือ ผีปู่ย่าตายาย, ทางภาคอีสาน คือ ผีปู่ตา, และทางภาคใต้ คือ ผีตายาย (โดยเฉพาะตอนทรงครูหมอตายายจะใช้การละเล่นพื้นบ้านมโนราห์เป็นสื่อเชื่อม เป็นต้น)

การทรงเจ้าเข้าผีตามหลักของไสยศาสตร์ ผู้ถูกเข้าทรงจะเกิดอาการร้อนๆหนาวๆในกายร่าง ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะเปลี่ยนผ่านไปเป็นอีกคน (ตามผีที่สิงเข้าร่าง) ผู้หญิงบางคนพอถูกสิงหรือทรงเข้า บุคลิกก็อาจจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่เรียบร้อย ขี้อาย อาจมุทะลุดุดัน ห้าวเป้ง พูดจาเสียงดัง หรือเสียงที่พูดอาจกลายเป็นเสียงของผู้ชายขึ้นมา โดยหลังจากออกทรง ความทรงจำตรงช่วงที่ทรงจะหายไปจนสิ้น เหลือแต่ความมึนงง จำอะไรไม่ได้(เพราะผีออกไปจากตัวแล้ว) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการออกทรงอีกด้วยว่า ถ้าคนทรงคว่ำหน้า สิ่งที่มาสื่อสารน่าจะเป็นสัมภเวสีหรือไม่ก็ผีร้าย แต่หากทรงหงายหลัง เชื่อว่าเป็นผีในฝ่ายดี อาจจะเป็นผีบรรพชน อาจจะเป็นผีฟ้า หรือไม่ก็เทวดา

คนทรงเจ้า ชาวบ้านเชื่อว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 พวก
พวกแรก เรียกว่า “คนทรงเจ้าขนานแท้” เชื่อว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกหลังความตายได้จริงๆ
พวกหลัง เรียกว่า “คนทรงเจ้าปลอม” เชื่อว่าเป็นพวก 18 มงกุฎ คอยใช้ความเชื่อเหล่านี้หากินบนความทุกข์หรือความงมงายของชาวบ้าน

* วิทยาศาสตร์
พูดถึงภาวะทรงเจ้าเข้าผีว่าอาจแบ่งออกเป็น 4 ภาคส่วน ดังต่อไปนี้

ส่วนแรก เชื่อว่ามนุษย์มีสององค์ ประกอบไปด้วย ( 1.) ร่างกาย และ( 2. ) จิตวิญญาณ แน่นอนว่าจิตวิญญาณมีหน้าที่คอยควบคุมกายร่างไปจนตลอดจวบจนชีวิตจะหาไม่ เมื่อตายลง ร่างกายก็เน่าเปื่อยผุพังไปเรื่อยๆ ส่วนจิตวิญญาณก็หลุดลอยออกจากร่าง กลายเป็นคลื่นความถี่ คลื่นพลังงาน นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าคลื่นพลังงานเหล่านี้สามารถเข้าสิงสู่เชื่อมโยงกับร่างกายของมนุษย์ได้ในบางครั้ง

ส่วนสอง เชื่อว่าเป็นการสะกดจิตตนเอง (hypnosis) เป็นการสะกดจิต หรือย้ำคิดย้ำทำย้ำเชื่อแบบซ้ำๆไปเรื่อยๆ จนคิดว่าตนเองเป็น “ร่างทรง” หรือ “ผู้วิเศษ” สามารถติดต่อสื่อสารผ่านทางร่างกายเชื่อมโยงระหว่างโลกของคนเป็นกับโลกหลังความตายได้

ส่วนสาม เชื่อว่าอาจเป็นผลมาจากโรค DID (Dissociative Identity Disorder) หรือโรค MPD (Multiple Personality Disorder) ภาษาไทยใช้คำว่า “โรคหลายบุคลิก” คือภาวะที่ความทรงจำจะหายไปชั่วขณะตอนที่โรคนี้กำเริบขึ้นมา ผู้ป่วยจะมีบุคลิกหลากหลายปรากฏขึ้น ในบุคลิกนั้นๆอาจเป็นผู้ชาย, ผู้หญิง, เด็ก, คนแก่, หรืออะไรต่อมิอะไรก็ได้ทั้งหมด ผู้ป่วยจะไม่สามารถรับรู้หรือมีความทรงจำในช่วงที่บุคลิกแฝงเหล่านั้นปรากฏขึ้นมา (เลยทำให้ดูเหมือนกับผีที่สิงสู่ได้ออกจากร่างของเหยื่อไป โดยเหยื่อที่ถูกสิงเกิดอาการมึนงง ไม่รับรู้เหตุการณ์ใดใดก่อนหน้าได้) เคยมีข้อมูลทางการแพทย์รายงานว่าชายชาวอเมริกันชื่อ บิลลี มิลลิแกน (Billy Milligan) เคยก่อคดีสะเทือนขวัญในช่วงยุค 70 กับข้อหาปล้นอาวุธปืนและคดีข่มขืนหญิงสาวมากหน้าหลายตาโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวว่าได้กระทำอะไรลงไปบ้าง เพราะเขาป่วยมีบุคลิกที่ซ่อนอยู่ในตัวเองมากถึง 24 บุคลิกมาแล้ว (ทางการแพทย์เชื่อว่า Billy Milligan น่าจะป่วยเป็นโรค DID หรือ MPD )

และส่วนสุดท้าย เชื่อว่าภาวะทรงเจ้าเข้าผี คือ การหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพที่ประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้คน

****** ดอกจัน (ข้อควรคิด)
ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของดวงดาวเหมือนกัน ใกล้กันนิดเดียว แต่บริบทแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เส้นแบ่งระหว่างวิทยาศาสตร์กับโลกของไสยศาสตร์ก็เฉกเช่นกัน บางครั้งเส้นมันก็บางเบาซะจนไม่ชัดเจน การทรงเจ้าเข้าผีมีอยู่จริงในทั่วทุกภาคของประเทศไทย(อันนี้ยืนยัน คนทรงก็เยอะมากๆด้วย) แต่….ผีที่เข้าสิงลงทรงนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบ (555+)

เขียน-รวบรวมเรียบเรียง : แอดมินซามาร่า ^_^

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
#เอกสารอ้างอิง

( 1. ) วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี คำสืบค้น “ร่างทรง” ลงวันที่ 19 กันยายน 2564 (อ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87 )

( 2. ) เว็บไซต์ประเพณีไทยดอทคอม คำสืบค้น “การประทับร่างทรง” ลงวันที่ 19 กันยายน 2564 (อ้างอิง : http://www.prapayneethai.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87 )

( 3. ) Thematter หัวข้อบทความ “อำนาจ เพศ และมิติการแสดง เข้าใจ ‘ร่างทรง’ ด้วย 6 งานวิชาการ”
Posted On 4 July 2018 vanat putnark ลงวันที่ 19 กันยายน 2564 (อ้างอิง : https://thematter.co/social/6-academic-works-on-spirit-medium-in-thailand/54223 )

( 4. ) dictionary.sanook คำสืบค้น “ร่างทรง” ลงวันที่ 19 กันยายน 2564 (อ้างอิง : https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-en-lexitron/%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87 )

( 5. ) มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง โดย Assoc. Prof. Dr.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ บทความ “ร่างทรง” (อ้างอิง : http://www.mentalhealth-fsp.org/961 )

( 6. ) คุณาพร ไชยโรจน์ / ใน / ทวด ในรูปสัตว์